Monday, May 12, 2014

เซรุ่มแก้พิษงูชนิดรวม

ปัจจุบัน การดูชนิดของงูว่าเป็นชนิดใดค่อนข้างยาก แม้ว่าจะจับได้แล้วก็ยังมองไม่ค่อยออก เหตุผลหนึ่ง คืองูผสมข้ามพันธ์ุ ทำให้ดูลายแล้วปนกันไปหมด บางที ส่วนหัวเหมือนสายพันธุ์หนึ่ง ส่วนหางเหมือนอีกสายพันธุ์หนึ่ง ดังนั้นปัจจุบัน มีการพัฒนาเพื่อผลิตเซรุ่มแก้พิษงูชนิดรวมออกมาแล้ว

ที่ผ่านมา เซรุ่มมีสองประเภท คือ ใช้กับงูที่มีพิษต่อระบบประสาท ได้แก่ งูจงอาง งูเห่า งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา และงูที่มีพิษต่อระบบโลหิต ได้แก่ งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา
ปัจจุบันผลิตได้จากสองแห่ง คือ สถานเสาวภา และองค์การเภสัชกรรม(ผลิตได้สามชนิด)
เซรุ่มแก้พิษงูที่ผลิตจากสถานเสาวภา เป็นชนิดผงบรรจุขวด ก่อนใช้ต้องละลายด้วยน้ำกลั่น 10 มล. ต่อ 1 ขวด เซรุ่มแก้พิษงูที่ผลิตจากองค์การเภสัชกรรมคือ งูกะปะ งูเห่า และงูแมวเซา เป็นชนิดน้ำ ขวดละ 10 มล.
ในอนาคตอันใกล้นี้ สถานเสาวภาจะผลิตเซรุ่มแก้พิษงู ชนิดรวม2ชนิด เป็นspecific polyvalent antivenom (ไม่ใช่ mixed monovalent antivenom โดยนำเซรุ่มชนิด monovalent มาผสมกัน) คือ เซรุ่มรวมต่องูระบบประสาท และเซรุ่มรวมต่องูระบบโลหิตซึ่งมีประโยชน์ในกรณีที่ไม่สามารถบอกชนิดของงูพิษได้ อาจสามารถใช้ในขนาดที่ต่ำกว่าและราคาถูกกว่า โดยที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับชนิด monovalent antivenom.

เตือนภัยแอร์! สะสมเชื้อแบคทีเรีย ก่อโรค “ลิเจียนแนร์-ไข้ปอน”

กรมอนามัยเตือนภัยแอร์! ชี้ความชื้นในเครื่องเป็นตัวก่อเชื้อโรค เสี่ยงหายใจรับเชื้อจนเป็นโรคลิเจียนแนร์ และไข้ปอน แนะทำความสะอาดเป็นประจำ สกัดฝุ่น เชื้อโรคสะสม

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ที่ใช้เพื่อคลายร้อน ทั้งที่ทำงาน บ้าน โรงแรม หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น อาจแฝงไปด้วยภัยร้าย เพราะในแอร์มีความชื้น ทำให้ภายในตัวแอร์และท่อแอร์เป็นที่เจริญเติบโตของเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา โดยเฉพาะแบคทีเรีย “ลิจิโอเนลลานิวโมฟิวลา” หากหายใจเอาฝอยละอองน้ำที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยลักษณะอาการมี 2 แบบคือ แบบปอดอักเสบรุนแรง มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น เรียกว่าโรคลิเจียนแนร์ และแบบคล้ายไข้หวัดใหญ่ เรียกว่าไข้ปอน ตีแอก หรือปอนเตียก

       
       นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า แอร์แบบระบบรวมควรเปิดน้ำทิ้งจากหอหล่อเย็นให้แห้ง เมื่อไม่ได้ใช้ควรทำความสะอาดขัดถูคราบไคลตะกอน เติมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อฆ่าเชื้อรา และทำความสะอาดหอหล่อเย็นอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อเดือน ไม่ให้มีตะไคร่เกาะ ทำลายเชื้อโดยใส่คลอรีนให้มีความเข้มข้น 10ppm เข้าท่อที่ไปหอผึ่งเย็นให้ทั่วถึง ทั้งระบบไม่น้อยกว่า 3-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นรักษาระดับคลอรีนให้ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 0.2ppm และแอร์ในห้องพัก ต้องทำความสะอาดถาดรองน้ำที่หยดจากท่อคอยส์เย็นทุก 1-2 สัปดาห์ ไม่ให้มีตะไคร่เกาะหรือใส่น้ำยาฆ่า เชื้อโรคที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคน ตามมาตรฐานประกาศกรมอนามัย เรื่อง ข้อปฏิบัติการควบคุมเชื้อลิจิโอเนลลาในหอผึ่งของอาคารในประเทศไทย
       
       นพ.พรเทพ กล่าวด้วยว่า สำหรับแอร์ที่ใช้ตามบ้านเรือน เมื่อเปิดแอร์ควรสังเกตว่าอากาศที่ออกมาจากแอร์มีกลิ่นเหม็นหรือมีกลิ่นอับหรือไม่ หากมีกลิ่นในเบื้องต้น ควรล้างทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศที่อยู่ในแอร์ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หากล้างทำความสะอาดแล้วกลิ่นไม่หาย ควรเรียกช่างเพื่อทำความสะอาดแบบเต็มระบบ
       
       “การล้างทำความสะอาดแอร์ควรทำเป็นประจำ โดยดูตามความเหมาะสมจากสภาพแวดล้อม และการใช้งาน หากเป็นแผ่นกรองอากาศควรล้างด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคแล้วใช้น้ำฉีดแรงๆ ที่ด้านหลัง ด้านที่ไม่ได้รับฝุ่น ให้ฝุ่นและสิ่งสกปรกหลุดออกอย่างน้อยเดือนละครั้ง และควรล้างแอร์แบบเต็มระบบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเช่นเดียวกัน แต่หากใช้เป็นประจำทุกวัน ควรล้างทำความสะอาดประมาณ 6 เดือนต่อครั้ง เพราะนอกจากจะช่วยลดเชื้อโรคที่อาจสะสมอยู่ในแอร์แล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้อีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ข่าวจาก http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000048624